Ribbentrop, Joachim von (1893-1946)

นายโยอาคีม ฟอนริบเบนทรอพ (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๙)

 โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๕ นักการเมือง และนักธุรกิจส่งออกไวน์และแชมเปญเยอรมันเขาเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และมีบทบาทสำคัญในการเป็นคนกลางประสานเรื่องการพบปะหารือทางการเมืองระหว่างฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* แกนนำของพรรคเซนเตอร์ (Center Party)* กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีโดยใช้บ้านพักเขาเป็นสถานที่นัดพบ หลังฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขามักปรึกษาริบเบนทรอพด้านนโยบายต่างประเทศ เพราะเห็นว่าริบเบนทรอพเป็นผู้รอบรู้ในกิจการต่างประเทศและมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์ให้ริบเบนทรอพจัดตั้งสำนักงานริบเบนทรอพ (Ribbentrop Bureau) ขึ้นเพื่อทำงานคู่ขนานกับกระทรวงการต่างประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ก็แต่งตั้งริบเบนทรอพเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษขึ้นตรงต่อ ฟือเรอร์ (Führer)* ริบเบนทรอพจึงเข้าสู่วงในแห่งอำนาจของพรรคนาซีและในเวลาต่อมาเขามีส่วนสนับสนุนฮิตเลอร์ให้ดำเนินนโยบายขยายอำนาจและก่อสงคราม

 ริบเบนทรอพซึ่งมีชื่อเดิมว่า อุลริช ฟรีดริช วิลเฮล์ม โยอาคีม ริบเบนทรอพ (Ulrich Friedrich Wilhelm Joachim Ribbentrop) เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะปานกลางเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๓ ที่เวเซิล (Wesel) เมืองเล็ก ๆ บนฝั่งแม่นํ้าไรน์ ในแคว้นเวสต์ฟาเลีย (Westphalia) ใกล้พรมแดนเนเธอร์แลนด์ ริชาร์ด ริบเบนทรอพบิดาเป็นทหารปืนใหญ่ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุขณะมียศพันโท ริบเบนทรอพเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาในเวลาต่อมาว่าบิดาลาออกเพราะไม่เห็นด้วยกับการที่ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ทรงลิดรอนอำนาจของออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* หลังลาออกจากราชการ บิดาทำงานธนาคารและใน ค.ศ. ๑๙๐๒ พาครอบครัวไปตั้งรกรากที่เมืองอโรซา (Arosa) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวบริเวณเทือกเขาแอลป์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวลาเกือบ ๒ ปีก่อนอพยพกลับมาเยอรมนีอีกครั้งส่วนโยฮันเนอ โซฟี แฮร์ทวิก (Johanne Sophie Hertwig) มารดามาจากตระกูลเจ้าที่ดิน เป็นคนรักการเรียนรู้และเล่นเปียโนเก่ง เธอมีส่วนทำให้ริบเบนทรอพซึ่งไม่ชอบเรียนหนังสือสนใจเรื่องดนตรี กีฬา และภาษาต่างประเทศ ริบเบนทรอพเป็นบุตรคนกลางมีพี่ชายและน้องสาว ในต้น ค.ศ. ๑๙๐๒ มารดาซึ่งล้มป่วยด้วยวัณโรคมานานเสียชีวิต อีก ๓ ปีต่อมา บิดาแต่งงานใหม่กับสตรีที่อายุน้อยกว่าถึง ๒๓ ปี และหลังแต่งงานก็พาครอบครัวไปอยู่ที่เมืองเมตซ์ (Metz)

 ในช่วงที่อาศัยอยู่ทื่อโรซาและเมตซ์ ริบเบนทรอพเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสจนแตกฉานและยังผูกมิตรกับนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ ที่เดินทางมาเที่ยวที่อโรซาและสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง เขาจึงต้องการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และเสริมสร้างความรู้ บิดาก็สนับสนุนความคิดดังกล่าวและตั้งใจจะส่งเขาไปอยู่กับญาติของแม่เลี้ยงที่อาณานิคมของเยอรมนีในแอฟริกา ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ริบเบนทรอพและพี่ชายเดินทางไปอังกฤษเพื่อเรียนภาษาเป็นเวลาปีเศษและริบเบนทรอพทำงานชั่วคราวเป็นเสมียนต่อมาในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๐ เขาและพี่ชายเดินทางไปแคนาดาเพื่อท่องเที่ยวและไปเยี่ยมเพื่อนซึ่งรู้จักและพบกันที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่เมื่อใช้ชีวิตในแคนาดาได้ระยะหนึ่งทั้งสองพี่น้องก็ไม่ยอมกลับเยอรมนีและหางานทำที่นั่นริบเบนทรอพทำงานที่ธนาคารซึ่งเพื่อนฝากให้และจากนั้นทำงานเป็นคนดูแลเรื่องตารางเวลาการทำงานของบริษัทก่อสร้างสะพานซึ่งสร้างเส้นทางรถไฟสายข้ามทวีประหว่างเมืองท่ามองก์ตัน (Moncton) กับเมืองชุมทางวินนิเพก (Winnipeg) ริบเบนทรอพเป็นหนุ่มหน้าตาคมคาย ผมสีอ่อน ตาสีฟ้าอมเทา มีมนุษยสัมพันธ์ดี ทั้งอ่านและพูดได้ ๓ ภาษา ตลอดจนเล่นไวโอลินเก่ง เขาจึงมีเพื่อนฝูงมากและเป็นที่รักของทุกคนที่ได้รู้จัก เขายังมีโอกาสได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับบุตรชายของหัวหน้าผู้พิพากษาซึ่งทำให้เขาได้เข้าสู่สังคมของชนชั้นสูง

 ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๒ ริบเบนทรอพและพี่ชายล้มป่วยด้วยวัณโรค แต่พี่ชายมีอาการหนักกว่าและต่อมาถูกส่งไปรักษาตัวที่สวิตเซอร์แลนด์และเสียชีวิตที่นั่นใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ขณะอายุ ๒๖ ปี ส่วนริบเบนทรอพเดินทางมาพักฟื้นรักษาตัวที่เยอรมนีและทำธุระเกี่ยวกับมรดกของมารดา ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๓ เขาเดินทางไปอยู่กับเพื่อนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๓ เขากลับไปกรุงออตตาวา (Ottawa) แล้วนำเงินที่เก็บหอมรอมริบและที่ได้รับจากมรดกเป็นทุนทำธุรกิจของตนเองด้วยการนำเข้าไวน์และแชมเปญจากเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เมื่ออังกฤษประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ริบเบนทรอพหาทางกลับเยอรมนีเพื่อรับใช้ชาติโดยใช้เส้นทางทางทะเล เขาต้องไปนิวยอร์กและโดยสารเรือไปยังเมืองรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) และในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๔ ก็ถึงแผ่นดินบ้านเกิด เขาประจำการในกองพันทหารม้าที่ ๑๒๕ และเข้าร่วมรบอย่างกล้าหาญทั้งในแนวรบด้านตะวันตกและแนวรบด้านตะวันออกจนได้รับเหรียญกล้าหาญ

 กางเขนเหล็กและได้ยศร้อยโท ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ริบเบนทรอพได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกส่งไปรักษาตัวในแนวหลังที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อเขาหายดีแล้วก็ถูกส่งไปประจำกระทรวงสงครามในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาถูกย้ายไปช่วยงานสำนักงานกระทรวงสงครามเยอรมันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ตุรกีหรือจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* และมีโอกาสรู้จักและเป็นเพื่อนกับฟรันซ์ ฟอน พาเพิน วัย ๓๘ ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าเสนาธิการทหารกองทัพที่ ๔ ในเวลาต่อมาพาเพินได้ชักนำให้ริบเบนทรอพเข้าสู่วงการเมือง เมื่อเยอรมนียอมยุติการรบด้วยการเจรจาลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ และนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ ริบเบนทรอพซึ่งทำงานอยู่ในหน่วยเตรียมเอกสารการเจรจาสันติภาพเป็นคนหนึ่งในคณะผู้แทนเยอรมันซึ่งนายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* เป็นหัวหน้าเข้าร่วมการประชุมสันติภาพครั้งนี้แต่ในท้ายที่สุดฝ่ายเยอรมันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าที่ประชุม

 หลังเยอรมนีถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ริบเบนทรอพถูกปลดประจำการและใช้ความสามารถด้านภาษาทำงานในบริษัทส่งออกฝ้ายอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะหันมาทำธุรกิจไวน์อีกครั้งหนึ่งโดยได้รับความช่วยเหลือจากบิดาของคนรักซึ่งทำธุรกิจส่งออกไวน์ยี่ห้อ Sekt ที่มีชื่อเสืยงของเยอรมนี ริบเบนทรอพพบกับอันนา เอลิซาเบท เฮนเคิลล์ (Anna Elizabeth Henkell) ซึ่งอายุน้อยกว่าเขา ๓ ปีในการแข่งขันเทนนิสที่บาดฮัมบูร์ก (Bad Hamburg) ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๙ อันนาเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่เชื่อนั่นในตนเอง กล้าแสดงออก และชอบความมีอำนาจ เธอประทับใจความสามารถด้านภาษาและการยิ้มที่มีเสน่ห์ซึ่งเป็นจุดเด่นของริบเบนทรอพ ทั้งสองแต่งงานกันในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ และมีบุตรชายหญิงด้วยกันรวม ๕ คนอันนาแสวงหาชื่อเสียง อำนาจ ความนั่งคั่ง และมักบงการให้สามีทำทุกอย่างตามที่เธอต้องการ เธอผลักดันให้ริบเบนทรอพสร้างเส้นสายในสังคมและยกสถานภาพทางสังคมให้สูงขึ้นเธอสนับสนุนเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของแกร์ทรูด ฟอน ริบเบนทรอพ (Gertrud von Ribbentrop) เพื่อนเก่าของบิดาเขาซึ่งสามีมีบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินและเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๙๓ โดยไม่มีทายาท ตามกฎหมายเยอรมันบรรดาศักดิ์ จะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อผู้ครองตำแหน่งเสียชีวิต แต่เครือญาติยังคงสามารถใช้ชื่อสกุล “ฟอน” ต่อไปได้ทั้งสามารถให้บุคคลที่อุปการะใช้ชื่อสกุลได้ด้วย การยกสถานะทางสังคมให้มีสกุลสูงศักดิ์โดยการอุปการะจึงเป็นแนวทางที่กลุ่มไต่เต้าทางสังคมนิยมปฏิบัติกันในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ริบเบนทรอพต้องการยกสถานะให้สูงศักดิ์ด้วยการใช้ชื่อสกุล “ฟอนริบเบนทรอพ” (von Ribbentrop) เขาจึงเสนอให้ค่าเลี้ยงดูแก่แกร์ทรูดเดือนละ ๔๕๐ ไรค์มาร์ค เป็นเวลา ๑๕ ปี ซึ่งเธอก็ตกลงและรับอุปการะเขาตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาจึงใช้ชื่อโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพนับแต่นั้นมาแม้ครอบครัวของอันนาจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่ได้ต่อต้านมากนัก

 ชื่อสกุลใหม่ทำให้ริบเบนทรอพได้เข้าเป็นสมาชิกสโมสรคนรวยและชนชั้นสูงในกรุงเบอร์ลินและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลระดับสูงในวงราชการ นอกจากนี้ น้องสาวของเขายังแต่งงานกับนักการทูตซึ่งทำให้ริบเบนทรอพมีโอกาสเข้าสู่สังคมนักการทูตและนำเสนอผลิตภัณฑ์ไวน์และแชมเปญที่เขาเป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งสามารถโน้มน้าวนายทุนชาวยิวที่มั่งคั่งเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ แม้เขาจะไม่สนใจปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น แต่เขาก็สนับสนุนพรรคประชาชนเยอรมัน (German People’s Party) ของกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤตการณ์การยึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr Occupation)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ทั้งคิดจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อหวังจะลงสมัครแข่งขันเป็นผู้แทนราษฎรในสภาไรค์ชตาก แต่ภายหลังเปลี่ยนความคิด ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ริบเบนทรอพมีโอกาสพบและรู้จักอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซีเป็นครั้งแรกเขาได้รับการแนะนำกับฮิตเลอร์ว่าเป็นนักธุรกิจที่มีเครือข่ายกว้างขวางในต่างประเทศ และเป็นผู้กำหนดราคามาตรฐานของแชมเปญเยอรมันให้เท่ากับแชมเปญฝรั่งเศส การพบกันครั้งนี้ทำให้เขาได้รู้จักกับกลุ่มวงในที่ใกล้ชิดกับฮิตเลอร์หลายคนไม่ว่าจะเป็นแอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Göring)* รูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* และไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* เป็นต้น

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒ พรรคนาซีซึ่งชูนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย รวมทั้งการโจมตีความล้มเหลวของคณะรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งเล่นพรรคเล่นพวกเริ่มได้รับความนิยมจากชาวเยอรมันทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๓๒ พรรคนาซีได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งสภาไรค์ชตากในเดือนกรกฎาคมโดยได้ที่มั่ง ๒๓๐ ที่นั่ง ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* จึงเชิญให้ฮิตเลอร์จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฟรันซ์ ฟอน พาเพิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าจะยอมจัดตั้งรัฐบาลด้วยก็ต่อเมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ชัยชนะของพรรคนาซีทำให้ริบเบนทรอพซึ่งได้รับการผลักดันจากภริยาตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซีในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ เขาสนับสนุนพรรคด้านการเงินและพยายามโน้มน้าวนักธุรกิจอุตสาหกรรมให้สนับสนุนพรรคนาซี บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้เขาก้าวสู่แวดวงในของพรรคนาซีในเวลารวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แกนนำนาซีหลายคนซึ่งรวมทั้งโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* ไม่ชอบเขา เพราะเห็นว่าริบเบนทรอพเป็นนักฉวยโอกาสที่ใช้เงินเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจทั้งหลงตัวและเป็นคนไม่น่าไว้วางใจ

 เมื่อรัฐบาลของคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* ล้มเหลวที่จะบริหารประเทศ ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กจึงสนับสนุนให้ฟรันซ์ ฟอน พาเพินหาทางจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ พาเพินได้เจรจาตกลงลับกับฮิตเลอร์ในการจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และใช้คฤหาสน์ริบเบนทรอพเป็นที่ประชุมเจรจาในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ในการเจรจาหารือกันครั้งที่ ๓ ฮิตเลอร์ยอมร่วมมือด้วยโดยขอตำแหน่งรัฐมนตรี ๒ ตำแหน่งประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กจึงแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ การก้าวสู่อำนาจของฮิตเลอร์ซึ่งฝ่ายนาซีเรียกว่าเป็น “การยึดอำนาจ” (Machtergriefung) นับเป็นการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยเยอรมันและนำไปสู่การสถาปนาอำนาจเผด็จการของพรรคนาซีในเยอรมนีในเวลาต่อมา ทันทีที่ก้าวสู่อำนาจ ฮิตเลอร์แต่งตั้งริบเบนทรอพเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศแก่เขาและพรรคนาซีเพราะเห็นว่าเขารอบรู้เรื่องต่างประเทศและแตกฉานด้านภาษา ริบเบนทรอพอ่านหนังสือพิมพ์ Le Temps ของฝรั่งเศสและหนังสือพิมพ์ The London Times โดยแปลและตัดข่าวส่งให้ฮิตเลอร์ซึ่งเฮสส์คนสนิทของท่านผู้นำและหัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศของพรรคไม่สามารถทำได้ ริบเบนทรอพยังสรุปสถานการณ์ระหว่างประเทศตามที่เขาคิดและต้องการให้ฮิตเลอร์รับรู้ได้ฟังเสมอซึ่งแตกต่างจากสำนักงานด้านการต่างประเทศที่เป็นมืออาชีพที่จะรายงานเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้นในเวลาอันรวดเร็วริบเบนทรอพซึ่งชอบประจบประแจงและสอพลอฮิตเลอร์อย่างไม่อายก็กลายเป็นคนโปรดของฮิตเลอร์

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์ให้ริบเบนทรอพจัดตั้งสำนักงานริบเบนทรอพขึ้นเพื่อทำงานคู่ขนานกับกระทรวงการต่างประเทศเนื่องจากเขาเชื่อมั่นในริบเบนทรอพและไม่ชอบคอนสแตนติน ไฟรแฮร์ ฟอน นอยรัท (Constantin Freiherr von Neurath)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งฮิตเลอร์เห็นว่ามีบุคลิกอ่อนแอทั้งชอบประนีประนอมและเป็นคนของประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก สำนักงานดังกล่าวตั้งอยู่ตรงข้ามกระทรวงการต่างประเทศโดยเช่าอาคารเล็ก ๆ ที่มีเพียง ๓-๔ ห้อง ซึ่งริบเบนทรอพเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและบุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่พูดภาษาต่างประเทศได้คล่องแคล่ว หน้าที่หลักของพวกเขาคือ การเก็บข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศและสรุปรายงานการเมืองระหว่างประเทศจากแหล่งข่าวต่าง ๆ เสนอแก่ฮิตเลอร์รวมทั้งหาข้อมูลด้านต่างประเทศตามที่ฮิตเลอร์ต้องการ ฮิตเลอร์ยังให้อำนาจริบเบนทรอพตอบจดหมายต่าง ๆ ที่มาถึงกระทรวงการต่างประเทศยกเว้นจดหมายที่ติดต่อกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงโดยตรง อำนาจดังกล่าวสร้างความอึดอัดแก่นอยรัทและบ่อยครั้งสำนักงานริบเบนทรอพทำงานข้ามหน้าข้ามตากระทรวงการต่างประเทศ แม้นอยรัทจะขุ่นเคืองแต่ก็ไม่กล้าต่อต้านริบเบนทรอพเพราะเขายังคงต้องการอยู่ในตำแหน่งทั้งคิดว่าเขาสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าซึ่งฮิตเลอร์คงจะเห็นได้ในวันใดวันหนึ่ง

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์แต่งตั้งริบเบนทรอพเป็นกรรมาธิการพิเศษ (Special Commissioner) เพื่อร่วมเจรจาปัญหาการลดกำลังอาวุธที่กรุงปารีส ลอนดอน และเบอร์ลินตามลำดับ แต่การเจรจาที่มีขึ้นไม่บรรลุข้อตกลงใด ๆ ริบเบนทรอพเสนอว่าเยอรมนีจะยุบหน่วยเอสเอ (SA)* หากประเทศพันธมิตรตะวันตกยอมให้เยอรมนีเพิ่มกำลังพลแต่ฝรั่งเศสคัดค้านอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในการประชุมนาวี (Naval Conference) ที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ริบเบนทรอพซึ่งเป็นผู้แทนเยอรมนีประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวอังกฤษซึ่งก่อนหน้านั้น ๒ เดือนได้ออกแถลงการณ์ประณามการเกณฑ์ทหารและการติดอาวุธของเยอรมนีในการประชุมที่เมืองสเตรซา (Stresa) ทางตอนเหนือของอิตาลีให้ยอมลงนามในความตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี (Anglo-German Naval Agreement) ทั้ง ๒ ประเทศตกลงกำหนดอัตราส่วนกำลังทางทะเลระหว่างกันเป็น ๑๐๐ : ๕๐ และอัตราส่วนของเรือดำนํ้าเท่ากัน ความตกลงดังกล่าวทำให้หลักการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* หมดความสำคัญลงและเปิดโอกาสให้เยอรมนีทำลายข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซายได้สำเร็จโดยสามารถสร้างเรือรบและเรือดำนํ้าได้ ฝรั่งเศสขุ่นเคืองอังกฤษอย่างมาก ริบเบนทรอพจึงอาสาที่จะเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่ออธิบายเรื่องราวและสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้นโดยอ้างกับฮิตเลอร์และฝ่ายอังกฤษว่าเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส เขาใช้วาทศิลป์และการต่อรองที่ให้ประโยชน์แก่ฝรั่งเศสจนทำให้ฝรั่งเศสโอนอ่อนได้สำเร็จ

 ความสำเร็จของริบเบนทรอพทำให้ฮิตเลอร์แต่งตั้งเขาเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และสั่งให้เขาพยายามโน้มน้าวอังกฤษเข้าร่วมในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* ซึ่งเยอรมนีกับญี่ปุ่นกำลังเจรจาตกลงกันอยู่ทั้งให้รายงานเรื่องการต่างประเทศแก่ฮิตเลอร์โดยตรง เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งริบเบนทรอพให้ตกแต่งสถานทูตใหม่เพื่อให้โอ่อ่าและงดงามมากขึ้น โดยจ้างมัณฑนากรจากเบอร์ลินมาตกแต่ง เขายังให้หน่วยรักษาความปลอดภัยของเอสเอส (SS)* มาเฝ้าดูแลบริเวณนอกสถานทูตทั้งยังติดธงสวัสติกะคู่กับธงชาติเยอรมันที่รถประจำตำแหน่งด้วย แม้ริบเบนทรอพจะพยายามอย่างมากในการซักจูงอังกฤษให้เข้าร่วมในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นซึ่งเยอรมนีกับญี่ปุ่นลงนามในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๖ แต่ก็ประสบความล้มเหลว กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายทางการทูตของเยอรมนีเพราะนอยรัทสนับสนุนการผูกมิตรกับจีนมากกว่าญี่ปุ่น นอยรัทซึ่งไม่พอใจริบเบนทรอพจึงประท้วงด้วยการขอลาออกจากตำแหน่ง แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธเพราะเห็นว่านอยรัทยังสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของนักการทูตต่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายติดอาวุธและการทำสงครามของเยอรมนีมาที่นโยบายต่างประเทศแบบฉาบหน้าของเยอรมนีได้

 ในช่วงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ริบเบนทรอพมักหาเหตุเดินทางกลับมาเยอรมนีบ่อยครั้งเพราะเขาต้องการใกล้ชิดกับฮิตเลอร์ เนื่องจากหวาดระแวงว่าการอยู่ห่างไกลจะทำให้เขาถูกตัดออกจากวงในของกลุ่มแกนนำที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจ เขาพยายามสร้างความประทับใจแก่ฮิตเลอร์ด้วยการเชิญชวนบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมและทางการเมือง เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* หรือลอร์ดลอนดอนเดอร์รี (Londonderry) มาเป็นแขกของฮิตเลอร์ เขายังสร้างข่าวอื้อฉาวให้ผู้คนเข้าใจกันว่าเขามีความสัมพันธ์กับวอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) หญิงม่ายชาวอเมริกันที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ (Edward VIII)* ริบเบนทรอพสร้างเรื่องว่าซิมป์สันเป็นแขกพิเศษที่มาสถานทูตบ่อย ๆ และความสัมพันธ์ได้ก่อตัวขึ้นระหว่างเขากับเธอ เขาใช้เธอเป็นสื่อในการหาข่าวผ่านพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ ให้แก่รัฐบาลเยอรมันทั้งให้ค่าตอบแทนแก่เธออย่างงามซึ่งทำให้เธอยินดีปฏิบัติงานไปเรื่อย ๆ เอฟบีไอ (FBI) ของสหรัฐอเมริกาหลงเชื่อข่าวที่ริบเบนทรอพสร้างขึ้นอย่างมากและสรุปรายงานเสนอประธานาธิบดีโรสเวลต์ว่าซิมป์สันเดินตามหมากที่ริบเบนทรอพวางไว้ อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตการณ์สละราชสมบัติ (Abdication Crisis)* ต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ นางซิมป์สันได้สมรสกับดุ๊กแห่งวินด์เซอร์ หรืออดีตพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๘ ที่ฝรั่งเศสและเป็นดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (Duchess of Windsor) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เธอได้เขียนหนังสือความทรงจำเรื่อง The Heart has its Reasons (ค.ศ. ๑๙๕๖) มีความตอนหนึ่งว่าเธอพบกับริบเบนทรอพ ๒ ครั้งและไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขาดังที่ริบเบนทรอพได้กล่าวอ้างใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ริบเบนทรอพสร้างข่าวให้เข้าหูฮิตเลอร์ด้วยการรับเสด็จพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI)* โดยการเคารพพระองค์แบบนาซีและกล่าวว่า “ไฮน์ ฮิตเลอร์” เขาถูกสื่อมวลชนถากถางและวิจารณ์โจมตีอย่างมาก แต่ริบเบนทรอพเห็นว่าการแสดงออกของเขาคือความเชื่อมั่นที่มีต่อท่านผู้นำและลัทธินาซี

 ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ ฮิตเลอร์เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการขยายดินแดน การติดอาวุธ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอยรัทซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยไม่เห็นด้วยกับนโยบายของฮิตเลอร์ที่จะขยายดินแดนไปทางตะวันออกซึ่งจะนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างประเทศฮิตเลอร์ไม่พอใจอย่างมากและมีส่วนทำให้เขาปลดนอยรัทจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์แต่งตั้งริบเบนทรอพซึ่งสนับสนุนเรื่องการขยายดินแดนและก่อสงครามให้ดำรงตำแหน่งสืบแทน หลังการประชุมครั้งนี้ พันเอก เคานต์ฟรีดิช ฮอสบัค (Friedrich Hossbach) นายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์ได้บันทึกการประชุมครั้งนี้ไว้เพื่อกันลืมประเด็นสำคัญ ๆ ของการประชุม บันทึกดังกล่าวในเวลาต่อมาเรียกว่าบันทึกช่วยจำฮอสบัค (Hossbach Memorandum)* กลายเป็นหลักฐานเอกสารสำคัญในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trail)* หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง

 การดำเนินงานของริบเบนทรอพในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแบ่งได้เป็น ๓ ระยะ คือ ช่วงแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๓๙ เขาพยายามชักจูงประเทศต่าง ๆ ให้เป็นพันธมิตรกับเยอรมนีเพื่อเตรียมก่อสงคราม ระยะที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๓ เขาพยายามโน้มน้าวประเทศต่าง ๆ ให้เข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายเยอรมนีหรือให้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง ระยะสุดท้ายระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๕ คือการประคับประคองความสัมพันธ์กับประเทศที่สนับสนุนเยอรมนีไม่ให้แยกตัวไปทำสนธิสัญญาสันติภาพกับฝ่ายพันธมิตรตะวันตกตามลำพัง ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ริบเบนทรอพได้พบปะกับผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมทั้งนักการทูตชาติต่าง ๆ บ่อยครั้ง และแนวความคิดที่เขาทำให้ทุกคนได้ประจักษ์คือ การสนับสนุนนโยบายสงครามและการต่อต้านชาวยิว เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีกล่าวถึงริบเบนทรอพในช่วงการประชุมที่เมืองมิวนิก (Munich Conference) ค.ศ. ๑๙๓๘ ว่าริบเบนทรอพเป็นชาวเยอรมันประเภทที่ทำลายประเทศชาติ เพราะชอบพูดเรื่องการทำสงครามกับทุกฝ่ายตลอดเวลาโดยไม่กล่าวว่าใครคือศัตรูทั้งไม่มีเป้าหมายชัดเจน

 หลังความสำเร็จของการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์ซึ่งต้องการทำลายสถานะความเป็นชาติเอกราชของเชโกสโลวะเกียสนับสนุนให้ชาวเยอรมันในซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนีและนำไปสู่วิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์ (Sudetenland Crisis)* ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ประเทศตะวันตกพยายามแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยการโน้มน้าวเยอรมนีให้ประชุมหารือเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเรื่องซูเดเทนลันด์ ริบเบนทรอพทำหน้าที่ประสานการติดต่อระหว่างอาเทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษกับฮิตเลอร์และนำไปสู่ความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี สหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ซึ่งทำให้โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ไม่พอใจประเทศตะวันตกอย่างมากและมีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตในเวลาต่อมายอมทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙

 ความตกลงมิวนิกเปิดทางให้เยอรมนีสามารถกำหนดแนวนโยบายยุทธศาสตร์ทางทหารในยุโรปซึ่งทำให้ในเวลาต่อมาฮิตเลอร์สามารถควบคุมยุโรปกลางได้ในที่สุด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีก็กดดันประธานาธิบดีเอมิล ฮาชา (Emil Hacha)* แห่งเชโกสโลวะเกียให้ลงนามรวมเชโกสโลวะเกียเข้ากับเยอรมนี ขณะเดียวกันริบเบนทรอพก็เรียกร้องให้โปแลนด์คืนเมืองดานซิก (Danzig)* หรือกดานสก์ (Gdansk)* และฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) แก่เยอรมนีทั้งข่มขู่ว่าหากโปแลนด์ปฏิเสธอาจจะเกิดสงครามระหว่างประเทศขึ้นได้ นโยบายก้าวร้าวของเยอรมนีทำให้อังกฤษยกเลิกนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* และหันมาต่อต้านเยอรมนีทั้งทำความตกลงเพิ่มเติมกับโปแลนด์ในกติกาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Pact of Mutual Assistance) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ รวมทั้งประกาศล้มเลิกข้อตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี ค.ศ. ๑๙๓๕

 ผลงานสำคัญที่ริบเบนทรอพดำเนินการในช่วงแรกของการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคือการโน้มน้าวให้ฮิตเลอร์ยอมรับสถานะของรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่นที่แมนจูกัว และการสละอาณานิยมเยอรมันในแปซิฟิกที่ญี่ปุ่นได้ยึดครองรวมทั้งยุติการสนับสนุนทางการทหารแก่รัฐบาลกว๋อหมินตั่ง (Guomindang) ของเจียง ไคเชก (Chiang Kaishek) ริบเบนทรอพเรียกร้องให้ญี่ปุ่นปรับเนื้อหาข้อตกลงในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น ซึ่งทั้ง ๒ ประเทศ ลงนามในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๖ จากการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นการต่อต้านอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๓๙ ญี่ปุ่นมุ่งความสนใจในการต่อต้านจีนและสหภาพโซเวียตมากกว่าอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ริบเบนทรอพก็ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวเคานต์เชียโน กาเลียซโซ (Ciano Galeazzo)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ การเข้าร่วมของอิตาลีทำให้กติกาสัญญาแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* ระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ขยายตัวในเวลาต่อมาเป็นกติกาสัญญาแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียว (Rome-Berlin-Tokyo Axis) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ และนับเป็นการประสานผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจทั้งในยุโรปและเอเชีย อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่นในเวลาต่อมาจึงได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)*

 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ทางพรมแดนด้านตะวันตกด้วยยุทธวิธีสงครามแบบสายพ้าแลบ (Blitzkrieg)* เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งคํ้าประกันเอกราชของโปแลนด์จึงประกาศสงครามกับเยอรมนีอย่างไม่เต็มใจเมื่อวันที่ ๓ กันยายน และนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างประเทศซึ่งขยายตัวไปทั่วยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว ในเวลาไม่ถึง ๔ สัปดาห์ โปแลนด์ก็ยอมแพ้ในช่วงระหว่างบุกโปแลนด์ ริบเบนทรอพติดตามฮิตเลอร์ไปในแนวรบด้วยและในวันที่ ๒๗ กันยายนซึ่งเป็นวันที่กรุงวอร์ซอถูกเยอรมนียึดครอง ฮิตเลอร์ส่งริบเบนทรอพไปสหภาพโซเวียตเพื่อเจรจาตกลงกับสตาลินและเวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตเกี่ยวกับการยึดครองโปแลนด์ตะวันออกและการรบระหว่างรัสเซียกับฟินแลนด์ เขาต้องยอมให้มีการแก้ไขข้อตกลงในความตกลงลับที่พ่วงท้ายกติกาสัญญานาซี-โซเวียตซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อสหภาพโซเวียต

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๐ เมื่อจอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* ยอมรับเงื่อนไขของสนธิสัญญาว่าด้วยการสงบศึกกับเยอรมนี ริบเบนทรอพสนับสนุนให้ ออทโท อาเบทซ์ (Otto Abetz) คนสนิทของเขาได้เป็นเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำฝรั่งเศส อาเบทซ์สนิทสนมกับปีแยร์ ลาวาล (Pierre Laval)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสและคนทั้งสองต่างร่วมมือกันทางการเมืองโดยลาวาลยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเยอรมนีแทบทุกเรื่อง อาเบทซ์ก็สนับสนุนลาวาลอย่างมากในเรื่องต่าง ๆ จนในเวลาต่อมาเขาได้เป็นผู้นำรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* แทนเปแตง และเป็นหุ่นเชิดของเยอรมนีอย่างเต็มที่ ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ริบเบนทรอพประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้อิตาลีและญี่ปุ่นลงนามร่วมกับเยอรมนีที่กรุงเบอร์ลินในกติกาสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact) เพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตซึ่งทำให้ฮิตเลอร์ชื่นชมเขามาก หลังการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ริบเบนทรอพมีบันทึกแจ้งให้สหภาพโซเวียตทราบว่าสนธิสัญญาทางทหารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์จะต่อต้านสหรัฐอเมริกาไม่ใช่สหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม จารชนชาวเยอรมันที่ทำงานให้กับหน่วยตำรวจลับเคจีบี (KGB)* ในกรุงเบอร์ลิน แจ้งข่าวให้สหภาพโซเวียตทราบว่าเบื้องหลังของความร่วมมือคือการวางแผนบุกโจมตีสหภาพโซเวียต และในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๐ ก็ส่งรายละเอียดของแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* ให้ทางการโซเวียต

 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ริบเบนทรอพจัดตั้งหน่วยกิจการภายในเยอรมัน (Department of Internal German Affairs) ขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมการต่อต้านชาวยิว หน่วยงานนี้จะประสานการดำเนินงานกับฝ่ายเอสเอสในการอพยพชาวยิวไปสังหารที่ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ทั้งในและนอกประเทศริบเบนทรอพยังสนับสนุนโครงการจัดตั้งอาณานิคมที่เกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) ในทวีปแอฟริกาเพื่อเป็นถิ่นฐานชาวยิว ทั้งพยายามโน้มน้าวผู้นำในดินแดนที่เยอรมนียึดครองให้เข้าร่วมด้วย แต่แผนมาดากัสการ์ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพราะมีอุปสรรคและปัญหามาก ต่อมาในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๔ ริบเบนทรอพซึ่งสามารถคานอำนาจกับเกิบเบิลส์ในงานด้านการโฆษณาชวนเชื่อของกระทรวงการต่างประเทศได้ก็ควบคุมงานด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมดของกระทรวงการต่างประเทศ เขาจึงจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในกระทรวงการต่างประเทศที่เรียกว่า “ฝ่ายปฏิบัติการต่อต้านยิวนอกประเทศ” (Anti-Jewish Action Abroad) หน่วยงานดังกล่าวทำหน้าที่ควบคุมการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการต่อต้านยิวนอกประเทศทั้งหมด และต้องรายงานการดำเนินงานเรื่องยิวในดินแดนที่เยอรมนียึดครองให้ริบเบนทรอพทราบทุกสัปดาห์

 หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่หาดนอร์มองดี (Normandy) ในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เยอรมนีเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับและเพลี่ยงพลํ้าในการรบ ริบเบนทรอพเริ่มหมดบทบาทและอิทธิพลลงตามสถานการณ์สงคราม เพราะความสามารถด้านการทูตของเขามีจำกัด และเมื่อคนของเขาที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ไร้ประสิทธิภาพ ฮิตเลอร์เริ่มรำคาญริบเบนทรอพและพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบเขาซึ่งทำให้ริบเบนทรอพวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อกลุ่มนายทหารระดับสูงที่มีพันโท เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus Schenk Graf von stauffenberg)* เป็นผู้นำวางแผนสังหารฮิตเลอร์ในเหตุการณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่าแผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* แม้ริบเบนทรอพจะไม่รู้เรื่องแผนสังหารดังกล่าวแต่การที่บุคลากรหลายคนในกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมด้วยก็ส่งผลเสียต่อเขา ฮิตเลอร์เห็นว่าริบเบนทรอพบกพร่องในหน้าที่เพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ริบเบนทรอพพยายามทำงานแก้ตัวและงานสำคัญขึ้นสุดท้ายที่เขาดำเนินการคือการสนับสนุนกองกำลังเอสเอสในฮังการีให้โค่นอำนาจรัฐบาลของพลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด นอจบานยา (Nikólaus Miklós Horthy de Nagybánya)* ที่พยายามแยกตัวจากเยอรมนีโดยขอเจรจาสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร

 ริบเบนทรอพพบกับฮิตเลอร์เป็นครั้งสุดท้ายในงานวันเกิดครบรอบ ๕๔ ปีของฮิตเลอร์ที่ศูนย์บัญชาการรบใต้ดินที่กรุงเบอร์ลิน ฮิตเลอร์ไม่สนใจเขาเท่าใดนัก และเพียงทักทายสั้น ๆ ซึ่งทำให้ริบเบนทรอพรู้สึกหดหู่และไม่มีความสุขต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย เขาได้มอบอำนาจให้จอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* สืบทอดตำแหน่งผู้นำเยอรมนี ริบเบนทรอพเสนอตัวที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ แต่เดอนิทซ์ปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของเดอนิทซ์ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเฟลนส์บูร์ก (Flensburg) ปกครองได้ไม่ถึง ๓ สัปดาห์ก็ถูกยุบ เยอรมนียอมพ่ายแพ้ต่อพันธมิตรในวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และในรุ่งขึ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปก็ยุติลง เดอนิทซ์และคณะรัฐบาลถูกจับ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕

 ส่วนริบเบนทรอพถูกทหารเบลเยียมที่สังกัดกองทัพอังกฤษจับกุมใกล้เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ในตัวเขามีเอกสารและจดหมายที่จ่าหน้าถึง “วินเซนต์ เชอร์ชิลล์” (Vincent Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนื้อหาเอกสารเป็นการวิจารณ์โจมตีนโยบายต่างประเทศของอังกฤษที่มีอคติต่อเยอรมนีและการที่อังกฤษยอมให้กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตเคลื่อนกำลังเข้าปลดปล่อยยุโรปตะวันออก การที่ริบเบนทรอพ ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ยังไม่ทราบชื่อ “วินสตัน” (Winston) ซึ่งเป็นชื่อต้นของเชอร์ชิลล์สะท้อนถึงการขาดความรู้รอบตัวแม้ในเรื่องพื้น ๆ ทั่วไป ภาพความไร้ประสิทธิภาพด้านการต่างประเทศที่เขามักถูกโจมตีมีนํ้าหนักน่าเชื่อถือมากขึ้น

 ริบเบนทรอพและผู้นำนาซีคนสำคัญ ๆ รวม ๒๒ คน ถูกพิจารณาโทษในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๖ เขาถูกกล่าวหารวม ๔ กระทงด้วยข้อหาการคบคิดวางแผนก่ออาชญากรรม การก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพการเป็นอาชญากรสงคราม และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติริบเบนทรอพปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและพยายามแก้ตัวด้วยการอ้างว่าการกระทำของเขามีเหตุผลและเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์สงคราม คณะผู้พิพากษาตัดสินว่าเขามีความผิดทั้ง ๔ ข้อหาและถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ริบเบนทรอพในวัย ๕๓ ปีเป็นนักโทษคนแรกในกลุ่มแกนนำนาซีที่ถูกแขวนคอเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เมื่อเพชฌฆาตกระตุกกลไกให้ร่างเขาร่วงลงซึ่งโดยทั่วไปคอจะหักและนักโทษเสียชีวิตทันที แต่เกิดปัญหาทำให้เชือกที่แขวนค่อย ๆ พันรอบคอ ริบเบนทรอพจึงเสียชีวิตอย่างทรมาน มีการประกาศว่าหลังจากที่ร่างของเขาทิ้งตัวลงจากขื่อเกือบ ๒๐ นาที ริบเบนทรอพจึงสิ้นใจ.



คำตั้ง
Ribbentrop, Joachim von
คำเทียบ
นายโยอาคีม ฟอนริบเบนทรอพ
คำสำคัญ
- กติกาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น
- กติกาสัญญาไตรภาคี
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกัน
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- กองทัพแดง
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- การประชุมที่เมืองมิวนิก
- การประชุมที่เมืองสเตรซา
- การประชุมนาวี
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- กาเลียซโซ, เคานต์เชียโน
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียว
- ข้อตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี
- ความตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี
- ความตกลงมิวนิก
- ค่ายกักกัน
- เคจีบี
- โคมินเทิร์น
- ฉนวนโปแลนด์
- ชเตาฟ์เฟนแบร์ก, เคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- เชโกสโลวะเกีย
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- ซิมป์สัน, วอลลิส
- ซูเดเทนลันด์
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- เดอนิทซ์, จอมพลเรือ คาร์ล
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- นอจบานยา, พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด
- บันทึกช่วยจำฮอสบัค
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม
- ฝ่ายปฏิบัติการต่อต้านยิวนอกประเทศ
- พรรคนาซี
- พรรคประชาชน
- พรรคประชาชนเยอรมัน
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ฟือเรอร์
- มหาอำนาจอักษะ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- รัฐบาลวิชี
- ริบเบนทรอพ, แกร์ทรูด ฟอน
- เริม, แอนสท์
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ลัทธินาซี
- ลาวาล, ปีแยร์
- วันดี-เดย์
- วิกฤตการณ์ซูเดเทนลันด์
- วิกฤตการณ์สละราชสมบัติ
- สงครามเยอรมัน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- สวิตเซอร์แลนด์
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- อาเบทซ์, ออทโท
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮอร์ที เด นอจบานยา, พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช
- ฮาชา, เอมิล
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เฮนเคิลล์, อันนา เอลิซาเบท
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1893-1946
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-